นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น หลายพื้นที่ของประเทศไทยนั้น ประชาชนควรใส่ใจทำความสะอาดบ้านหรือที่อยู่อาศัย และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นละออง ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ 7 จุดซ่อนฝุ่นภายในบ้านที่ต้องทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่
- เครื่องปรับอากาศ เช็ดทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศหรือหน้ากากเครื่องปรับอากาศด้วยผ้าเปียกบิดหมาด ๆ หรือเปิดน้ำเบาๆ แล้วใช้แปรงขนอ่อนถูเบาๆ จนสะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้ง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และหมั่นตรวจสอบสภาพเครื่องปรับอากาศ ทุก 6 เดือน
- พัดลม ถอดใบพัดและตะแกรงไปล้างฉีดน้ำและใช้แปรงขนอ่อนขัดซี่ตะแกรง จากนั้นนำชิ้นส่วนที่ล้างเสร็จแล้วไปเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งสนิทหรือนำไปผึ่งลมจนแห้ง และนำชิ้นส่วนมาประกอบตามเดิม
- มุ้งลวด ถอดออกมาฉีดน้ำล้าง ใช้แปรงขนอ่อนขัดเบา ๆ อาจใช้น้ำยาทำความสะอาดร่วมด้วยล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้ง ก่อนนำมาติดตั้งใหม่
- ผ้าม่าน ปลดผ้าม่านลงจากราง นำผ้าม่านไปแช่น้ำผสมผงซักฟอก ประมาณ 30-60 นาที เพื่อให้ฝุ่นผงที่ฝังติดลึกในเนื้อผ้าได้คลายตัวออก ซักทำความสะอาด แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง
- ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง และให้เปลี่ยนเป็นประจำ
- หลังตู้เสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำ ทำความสะอาดเป็นประจำ
- พรม ควรดูดฝุ่นเป็นประจำ กรณีคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด ควรเลี่ยงการใช้พรมในบ้าน เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมฝุ่นละออง และขณะทำความสะอาดบ้านควรสวมถุงมือ หน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง จะช่วยป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายได้
“ทั้งนี้ ประชาชนต้องหมั่นรักษาความสะอาดและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งพื้นที่ในบ้านและบริเวณรอบบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นและเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ ให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงอาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบ้านมากขึ้น รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีรอบบริเวณบ้าน โดยปลูกต้นไม้ที่มีลักษณะใบหนา หยาบ มีขน เพื่อช่วยดักฝุ่น รอบบ้าน เช่น ทองอุไร ตะขบฝรั่ง จามจุรี เป็นต้น และลดหรือเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองเพิ่ม เช่น การจุดธูป-เทียน การเผาขยะ การจุดเตาถ่าน และการสูบบุหรี่ รวมทั้งการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ก่อให้เกิดควันดำ สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงควรสวมหน้ากากป้องกันตนเองเมื่ออยู่นอกอาคาร และหลีกเลี่ยงหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศด้วยการดูค่า PM 2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือ แอปพลิเคชัน “Air4thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเพจเฟซบุ๊ก “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา:sanook
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น